อาการท้องผูกพบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะยุคปัจจุบันนี้การดำเนินชีวิตของคนเรามีความเร่งรีบ อาหารการกินมักเป็นพวกฟาสฟู้ดส์ ขนมหวาน ขนมปัง ไม่ค่อยเน้นทานผักและผลไม้สักเท่าไหร่ และการพักผ่อนก็น้อย บางคนอดหลับหลายวัน หรือบางคนเข้านอนไม่เป็นเวลา และขาดการออกกำลังกายอีกด้วย
ภาวะท้องผูกคืออะไร?
เป็นภาวะการขับถ่ายอุจจาระน้อยครั้ง ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายอุจจาระได้อย่างสม่ำเสมอ บางคนอาจขับถ่ายปกติ แต่การถ่ายแต่ละครั้งจะถ่ายด้วยความลำบาก ใช้เวลานานเบ่งนานกว่าปกติ หรือมีอาการเจ็บทวารหนักเวลาถ่าย ปกติคนเราจะถ่ายอุจจาระตั้งแต่วันละ 3 ครั้ง ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าหากคุณขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์จะถือว่ามีอาการท้องผูก
ท้องผูกมีปัจจัยเกิดจากอะไร?
อาการท้องผูกมักสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระ ซึ่งมีลำไส้ใหญ่เป็นตัวขับเคลื่อน ฉะนั้นคุณควรทราบก่อนว่าลำไส้ใหญ่ทำงานอย่างไร เมื่อคุณทานข้าว สารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางลำไส้เล็กก่อนจากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เมื่อถึงลำไส้ใหญ่น้ำก็จะถูกดูดซึมออกจากอาหารจนเหลือแต่กากอาหารที่จะกลายเป็นอุจจาระ ลำไส้ใหญ่จะค่อยๆ บีบตัวเป็นระยะตลอดทั้งวันเพื่อผลักดันให้อุจจาระเคลื่อนต่อไปยังไส้ตรงในที่สุด กรณีภาวะท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อลำไส้ใหญ่ดูดซึมน้ำออกมากเกินไปหรือกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่บีบตัวเชื่องช้า ทำให้ก้อนอุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่อย่างช้าๆ ส่งผลให้ก้อนอุจจาระแข็งและแห้ง จึงเป็นสาเหตุให้คุณขับถ่ายได้ยาก สามารถแบ่งสาเหตุออกได้ดังนี้
- เกิดจากการดำเนินชีวิตแบบผิด ๆ เริ่มจากเรื่องอาหารการกิน ไม่ค่อยทานผักและผลไม้ที่มีกากใย มักเน้นทานเนื้อสัตว์และพวกแป้งมากกว่า ในแต่ละวันดื่มน้ำเปล่าในปริมาณน้อย ชอบดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมแทน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ชีวิตส่วนใหญ่จะต้องเดินทางอยู่บนรถและมักนั่งทำงานอยู่กับที่ บางกิจกรรมอาจทำให้เกิดการอั้นอุจจาระขึ้นเป็นประจำ ทำให้นิสัยการขับถ่ายเสียไป
- การใช้ยา ยาบางชนิดที่คุณทานเข้าไปรักษาโรคบางอย่าง อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการท้องผูกได้ เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้ความดันสูง ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียมและแคลเซียม ยาบำรุงเลือด ประเภทธาตุเหล็ก และยาแก้ปวดที่มีสารประกอบโคเดอีน (codeine) ทำให้การย่อยอาหารช้าลง มีผลให้เกิดอาการท้องผูก
- โรคประจำตัว หากคุณมีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อลำไส้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ และไตวาย หรือมีโรคของระบบประสาท ซึ่งส่งผลถึงการเคลื่อนไหวบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ลดลง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเนื้องอก/มะเร็งของสมอง และปัญหาของลำไส้ใหญ่โดยตรง อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่
วิธีแก้ท้องผูกทำอย่างไร?
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงทุกมื้อ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ ข้าวกล้อง และขนมปังโฮลวีท เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มเส้นใยการขับถ่าย และช่วยต้านทานการย่อยของน้ำย่อยที่จะไปดูดน้ำภายในลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายอุจจาระได้รวดเร็ว
- หมั่นออกกำลังทุกวัน ในตอนเช้าให้บริหารร่างกายด้วยการยืนตรง หายใจเข้าลึกๆ แล้วก้มลง หายใจออก แขม่วท้องจนเหมือนหน้าท้องติดสันหลัง ทำสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อย หรือขยับร่างกายบ่อยๆ เช่น การเดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟท์ ส่งผลให้ลำไส้ได้ขยับเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารส่งผ่านไปได้สะดวก
- พักผ่อนให้เพียงพอ ตื่นนอนให้เป็นเวลา ฝึกเข้าห้องน้ำขับถ่ายทุกเช้าให้เป็นกิจวัตร โดยควรนั่งถ่ายอย่างผ่อนคลายประมาณ 10 นาที ขณะที่นั่งอยู่บนโถส้วม ให้ใช้ฝ่ามือนวดหน้าท้อง โดยวนตามเข็มนาฬิกาหลายๆ รอบ แขม่วท้องไว้ด้วย ไม่ควรเร่งรีบเกินไป
- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก เมื่อคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้า ยังไม่ต้องแปรงฟันนะ ให้ดื่มน้ำอุ่น 2 แก้ว (ห้ามดื่มน้ำเย็น) เพราะการดื่มน้ำตอนท้องว่างจะช่วยให้ลำไส้บีบรัดตัวได้ดีขึ้น และช่วยให้กากอาหารอ่อนตัวลงได้ ระหว่างวันให้จิบน้ำบ่อยๆ ในปริมาณเพียงพอต่อร่างกาย งดชา กาแฟ น้ำหวาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ควรกลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย เมื่อปวดถ่ายควรรีบเข้าห้องน้ำเสมอ
- ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด ลดความกังวล ทำจิตใจให้เบิกบาน แจ่มใส เช่น ทำงานบ้าน ฟังเพลง นั่งสมาธิ หรือทำงานอดิเรกต่างๆ
- การใช้ยาระบาย ควรใช้เป็นครั้งคราว ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องระยะยาว เพราะอาจทำให้เกิดการดื้อยาได้
- หากมีอาการท้องผูก ควรปรึกษาแพทย์ไม่ควรใช้ยาแก้ท้องผูกเอง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- การฝึกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักกายภาพบำบัด
- การผ่าตัด จะช่วยแก้ปัญหาในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะท้องผูกรุนแรงเรื้อรังจากปัญหากล้ามเนื้อบีบรัดและไม่ผ่อนคลายขณะขับถ่ายอุจจาระ แต่ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ปวดท้อง ท้องร่วง และกลั้นอุจจาระไม่อยู่